home

สงครามการค้า: โอกาส และความท้าทายของเวียดนาม

ธันวาคม 14, 2018
สงครามการค้า: โอกาส และความท้าทายของเวียดนาม

ภายหลังที่สหรัฐ ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าพลังงานโซล่าเซลล์ และเครื่องซักผ้า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ก็ได้ออกประกาศปรับภาษีสินค้านำเข้าอีกครั้ง

โดยกำหนดให้ภาษีนำเข้าเหล็กกล้าอยู่ที่ 25% ในขณะที่อลูมิเนียมอยู่ที่ 10% ซึ่งเป็นมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ที่สร้างความวิตกกังวลให้กับประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ อย่างมาก เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีการนำเข้าเหล็กกล้ารายใหญ่ที่สุดในโลก จากข้อมูลองค์การการค้าโลก_สหรัฐฯนำเข้าเหล็กกล้าราว 35 ล้านตันเมื่อปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นสหรัฐฯ ยังใช้มาตรการทางภาษีมุ่งเป้าไปที่คู่แข่งทางการค้ารายสำคัญอย่างจีน โดยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 25% ได้แก่ เครื่องบิน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร คิดเป็นมูลค่าการค้ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 9% ของมูลค่าสินค้าที่นำเข้าจากจีนทั้งหมด ในปี 2560 เพื่อตอบโต้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และ การบุกรุกทางไซเบอร์เพื่อเข้าถึงข้อมูลทางธุรกิจในสหรัฐฯ ของรัฐบาลปักกิ่งด้วย

ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และความสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นสงครามการค้า (Trade War) ในอนาคต มีแนวโน้มว่าจะกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน ที่ขยายตัวต่อเนื่องมานับตั้งแต่วิกฤติการเงินเอเชียเมื่อปี 2541 รายงานของธนาคารโลกระบุผลการประเมินทางเศรษฐกิจ เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกอาจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยจะมีอัตราการเติบโตที่ 6.2% ซึ่งลดลงไปเล็กน้อยจาก 6.4% ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ดีความเสี่ยงดังกล่าวอาจจะไม่รวมถึงกรณีของเวียดนาม

ธนาคารพัฒนาเอเชียเผยว่า ในปีที่ผ่านมาเวียดนามมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 6.81% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของเวียดนาม ในปี 2018 จะยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อย่างน้อย 6.5% โดยมีแรงผลักดันจากอุปสงค์ภายในประเทศและการผลิตที่เน้นการส่งออก สวนกระแสประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคที่ได้รับพิษจากสงครามการค้าและความแข็งแกร่งของสกุลเงินดอลลาร์ และด้วยปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ใกล้กับจีน และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมืองที่มีมาอย่างยาวนานของทั้ง 2 ประเทศ ผู้ผลิตสินค้าของจีนได้ย้ายฐานการผลิตออกไปยังประเทศใกล้เคียงซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าอย่างเวียดนาม เพื่อลดต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้นจากการที่สหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า เช่นเดียวกับบริษัทเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและไต้หวันที่ต่างพากันเข้าไปลงทุนในเวียดนาม

นอกจากนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการส่งออกและการลงทุนโดยตรงของเวียดนามยังได้รับอานิสงค์จากความสนใจของสหรัฐฯ ในสินค้า วัตถุดิบ ตลอดจนบรรยากาศการลงทุนในเวียดนามที่มีจุดเด่นด้านแรงงานราคาถูกและขนาดตลาดภายในประเทศที่ใหญ่ด้วยประชากรกว่า 90 ล้านคน สหรัฐฯยังเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตภัณฑ์เส้นใย สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเวียดนามคิดเป็นมูลค่าราว 46,500 ล้านดอลลาร์ต่อปี จากสถิติของกระทรวงการลงทุนเวียดนามระบุว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้เวียดนามได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) รวมประมาณ 11,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าของปีที่แล้ว 9.2% ในจำนวนนั้นมีบรรษัทข้ามชาติชั้นนำสัญชาติอเมริกันอย่างฟอร์ด และอินเทลที่เข้ามาขยายฐานการผลิตในเวียดนามเช่นกัน

ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจระหว่าง 2 มหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนจึงอาจเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อชาติสมาชิกอาเซียน ขึ้นอยู่กับศักยภาพในการส่งออกหรือการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติของแต่ละประเทศ ดังเช่นในกรณีของเวียดนามที่อาศัยจังหวะที่สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีทางการค้ากับจีนมาเป็นโอกาสให้เวียดนามส่งออกสินค้าและดึงดูดการลงทุนจากสหรัฐฯ แทน สำหรับจีนนั้นเวียดนามก็ยังสามารถดำเนินความสัมพันธ์ทางการค้าได้เช่นเดิม นอกจากการปรับตัวในความสัมพันธ์ระหว่าง 2 มหาอำนาจแล้ว ชาติสมาชิกอาเซียนควรพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของตลาดการค้าและการลงทุนในภูมิภาค เพื่อเป็นทางออกและทางเลือกในการลดความเสี่ยง และเตรียมรับมือกับสงครามการค้าที่กำลังจะเกิดขึ้น

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน