home

ASEAN Touch: เยือนเมียนมา – ออกตามหา “ชาวโยเดีย”

พฤษภาคม 28, 2017
ASEAN Touch: เยือนเมียนมา – ออกตามหา “ชาวโยเดีย”

เรื่องโดย กชภพ กรเพชรรัตน์

เสียงรถยนต์คันเก่าของอองข่าย สหายชาวเมียนมาวัย 30 ปี ผู้ทำหน้าที่เป็นพลขับในการเดินทางของผมในครั้งนี้ ก่อนออกรถเพียงไม่กี่วินาที อองข่ายหันมายิ้มพลางถามผมด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงเมียนมาว่า “Are you ready?” (คุณพร้อมแล้วหรือยัง?) ผมเองก็พยักหน้าพร้อมยิ้มตอบอย่างเป็นมิตร จากนั้น รถก็ค่อยๆ เคลื่อนตัวออกไปอย่างช้าๆ จากท่าอากาศยานนานาชาติมัณฑะเลย์เข้าสู่ตัวเมืองมัณฑะเลย์นั้น ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมเดินทางมาที่นี่ ราชธานีแห่งสุดท้ายของชาวพม่า ก่อนที่จะย้ายศูนย์กลางทางการปกครองไปยังนครย่างกุ้งภายใต้จักรวรรดินิยมอังกฤษ  การมาเยือนเมียนมาในครั้งนี้ ผมรู้สึกตื่นเต้นกว่าการเดินทางในครั้งก่อนเป็นไหนๆ เนื่องจากก่อนออกเดินทาง ผมได้ใช้เวลาพอสมควรในการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเชลยชาวอยุธยาเดินทางโยกย้ายไปอาศัยอยู่ที่เมียนมา เพื่อหวังใช้เป็นข้อมูลในการออกตามหาชาวโยเดียตามที่ผมปรารถนาไว้

ระหว่างการเดินทางภายในเมืองมัณฑะเลย์ ผมเปิดแผนที่เพื่อค้นหาตำแหน่งของ “วัดมหาเต็งดอจี” (Maha Thein Daw Gyi) และหวังจะเดินทางไปยังวัดแห่งนี้ หลังจากทราบมาว่า วัดแห่งนี้มีตำนานเล่าขานต่อกันมาว่า พบร่องรอยการของกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “ชาวโยเดีย”  โดยวัดแห่งนี้ ตั้งอยู่ในเขตเมืองสกาย  (Sagaing) ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่และอดีตราชธานีแห่งที่ 2 ของช่วงต้นราชวงศ์คองบอง ดังนั้น ผมและอองข่ายจึงมีเป้าหมายใหม่นั้นก็คือ มุ่งหน้าไปยังเมืองสกายเพื่อออกตามหาวัดมหาเต็งดอจี

การเดินทางจากเมืองมัณฑะเลย์ไปยังเมืองสกาย จะต้องข้ามแม่น้ำอิรวดีทางสะพานยาดานาบอน (Yadanabon Bridge) ซึ่งเป็นสะพานแบบ บีม บริดจ์ (Beam Bridge) มีความกว้างประมาณสี่เลน ผมใช้เวลาเพียงแค่ 10 นาทีก็ข้ามฝั่งมาเมืองสกายได้ ด้วยภูมิประเทศที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นทิวเขา ประกอบกับเส้นทางถนนบางช่วงชำรุดเสียหายและไม่ได้รับการซ่อมแซม ส่งผลให้ผมและอองข่ายจำต้องอ้อมไปใช้เส้นทางอื่น ทำให้ระยะทางเพียง 10 กิโลเมตร จากเมืองมัณฑะเลย์ไปยังเมืองสกาย จำต้องใช้เวลาไปเกือบ 2 ชั่วโมง

ภาพที่ผมเห็นครั้งแรกเมื่อเดินทางมาถึง “เมืองสกาย” ในฐานะอดีตราชธานีเก่าของราชวงศ์คองบองนั้น แทบไม่เหลือเค้ามูลของความเป็นศูนย์กลางการปกครองในอดีต คงแต่มีวัดเก่าแก่กระจัดกระจายอยู่จำนวนมากตามเนินเขาฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอิรวดี  อีกทั้งผู้คนในเมืองนี้ยังคงดำเนินชีวิตในลักษณะดั้งเดิม เช่น ชายวัยกลางคนยังคงนุ่งโสร่ง หรือ “โลงจี” (Longyi) ยืนเคี้ยวหมากพูดคุยกัน ขณะที่ หญิงสาวเมียนมาได้นำข้าวของเทินเหนือศีรษะ คล้ายกับหลุดมาจากหนังอินเดียพีเรียดยังไงอย่างนั้น ผมค่อนข้างตื่นเต้นกับบรรยากาศในเมืองสกายพอสมควร อย่างไรก็ตาม ผมและอองข่ายก็ยังไม่ละความพยายามที่จะออกตามหา “วัดมหาเต็งดอจี”

หลังจากที่เวียนหาวัดทั่วบริเวณเนินเขา อองข่ายเข้าไปถามคุณลุงในร้านขายของชำแห่งหนึ่ง แม้ผมจะฟังภาษาเมียนมาไม่เข้าใจ แต่เมื่อได้ยินอองข่ายและคุณลุงพูดคำว่า “เซโยเดีย” (Zay Yodia) ผมก็รู้สึกอุ่นใจขึ้นมาในระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อยสถานที่ที่ผมมาถึงแห่งนี้ก็น่าจะมีบางสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชาวโยเดียที่ผมตั้งใจออกตามหา ผมถามอองข่ายด้วยความสนใจว่า เซโยเดียที่ว่านั้นแปลว่าอะไร อองข่ายตอบกลับมาว่าเซโยเดียแปลว่า “ตลาดโยเดีย”

ผมนึกถึงบันทึกของชาวต่างชาติร่วมสมัยที่บันทึกไว้ว่า ณ บริเวณที่เรียกว่าตลาดโยเดีย เคยเป็นสถานที่ที่เชลยศึกหลายกลุ่มของเมียนมาถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในที่แห่งนี้  หนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกกวาดต้อนมานี้ก็คือ “ชาวอยุธยา” นับตั้งแต่ครั้งที่กรุงแตกในปี 2310 โดยชาวเมียนมาได้เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ชาวโยเดีย” โดยคำว่า “โยเดีย” ที่ว่านี้ มาจากคำว่า “โยดายา” หรือ “อยุธยา” นั้นเอง ” แม้ว่ากาลเวลาจะล่วงเลยมาแล้วหลายร้อยปี แต่ชาวเมียนมาก็ยังคงเรียกผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมาจากอยุธยาว่าชาวโยเดียจวบจนปัจจุบัน

ระหว่างทางตามหาวัดมหาเต็งดอจีนั้นค่อนข้างลำบาก เนื่องจากถนนบางส่วนอยู่ในช่วงการซ่อมแซม เป็นถนนลูกรัง สองข้างเต็มไปด้วยป่าละเมาะ อีกทั้ง ฝุ่นละอองโดยรอบก็เยอะพอสมควร อองข่ายหยุดรถถามเส้นทางกับหลวงพี่ท่านหนึ่ง ได้ความมาว่า ห่างจากวัดที่มีสิงห์ขาวตัวใหญ่สองตัวด้านหน้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร ผมและอองข่ายรู้สึกตื่นเต้นมากกว่าเดิม และพยายามไปตามเส้นทางที่หลวงพี่บอกกล่าว ไม่นานผมก็พบอุโบสถหลังเก่าแห่งหนึ่งอยู่ท่ามกลางแมกไม้ ใช่ครับ! ผมและอองข่ายมาถึง “วัดมหาเต็งดอจี” เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ทำให้ผมมั่นใจว่าผมมาถึง “วัดมหาเต็งดอจี” แล้วนั้นก็คือ ป้ายเก่าๆระบุชื่อวัดติดอยู่ทางด้านหน้า แต่ด้วยสภาพเก่าแก่ของวัด ราวกับไร้ผู้ดูแลนี้ ทำให้ผมสัมผัสได้ว่า วัดแห่งนี้อาจไม่ได้มีความสลักสำคัญต่อผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณนี้มากเท่าใดนัก และโดยรอบก็ไม่พบเห็นว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาแม้แต่คนเดียว

01   02

ผมสนอกสนใจว่าภายในอุโบสถแห่งนี้เป็นอย่างไร แต่อุโบสถกลับถูกปิดล็อกไว้ ผมจึงหันไปเดินชมศิลปะโดยรอบตัวอาคารแทน ผมสังเกตเห็นว่า อุโบสถหลังนี้มีรูปแบบของศิลปะสมัยราชวงศ์คองบอง เนื่องจากมีลักษณะอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหลัง ขณะที่ ทรงฐานอาคารมีความโค้งแอ่นคล้ายเรือสำเภาแบบวัดในศิลปะอยุธยาตอนปลาย

ไม่นานอองข่ายพาชายวัยกลางคนนุ่งโสร่งสีน้ำตาล สวมเสื้อแขนกุดสีขาวผู้น่าจะเป็นผู้ดูแลอุโบสถหลังนี้ เดินมาเปิดประตูอุโบสถ และอนุญาตให้ผมสามารถเข้าชมภายในได้ สิ่งแรกที่ผมพบเห็นนั้นก็คือ “ลวดลายเครือเถา” อันเป็นจิตรกรรมที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมในศิลปะไทย ช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย ดังที่ปรากฎในวัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณหลังพระประธาน

03   04

เมื่อผมหันมามองจิตรกรรมเหนือประตูอีกครั้ง ผมพบจิตรกรรมภาพฝาผนังที่มีรูปภาพปราสาทแบบไทย เช่น ฐานสิงห์ ครุฑแบก ขณะที่ ส่วนยอดเป็นเรือนซ้อนชั้นแบบไทย อีกทั้ง ยังมีการใช้เส้นสินเทาแบบหยักฟันปลาแบบช่างไทยสมัยอยุธยาตอนปลาย รวมถึงรูปแบบของพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ในบุษบกและพัดยศก็เป็นศิลปะแบบไทยเช่นกัน โดยทั้งหมดคาดกันว่า เป็นผลงานของช่างหลวงไทยที่เป็นเชลยศึกในสมัยนั้น

การเดินทาง “เยือนเมียนมา – ออกตามหาชาวโยเดีย” ของผมในครั้งนี้ แม้สิ่งที่ผมพบเจอจะเป็นเพียงวัดที่ถูกทิ้งร้างเพียงเพียงแห่งเดียว และไม่อาจนำมาใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวของชาวโยเดียทั้งหมดในอดีตได้ แต่จิตรกรรมที่ผมได้เห็นได้จากอุโบสถทั้งด้านนอกและด้านในอาคาร มีส่วนช่วยปะติดปะต่อเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของผู้คนกลุ่มนี้ได้ดีพอสมควร แม้ภาพจิตรกรรมและโครงสร้างอาคารของวัดแห่งนี้อาจจะไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าใดนัก แต่สำหรับผม สิ่งที่ผมพบเห็นทั้งหมดนี้ เสมือนเป็นเครื่องมือในการยืนยันการมีตัวตนของชาวโยเดีย เสมือนขุมทรัพย์ทางปัญญาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบทอด และรอคอยการเข้าศึกษาของคนในปัจจุบัน

Comments are closed.

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน