home

การประชุมระดมสมอง: โครงการวิจัย “พลวัตทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน: ศึกษาเปรียบเทียบประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์”

ธันวาคม 12, 2018
การประชุมระดมสมอง: โครงการวิจัย “พลวัตทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน: ศึกษาเปรียบเทียบประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์”

การประชุมระดมสมอง:   โครงการวิจัย “พลวัตทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน:  ศึกษาเปรียบเทียบประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์”

วัน/เวลา:         วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2561 เวลา 13.00-16.00น.

สถานที่:          ห้อง รศ.102 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 โครงการ “จับตาอาเซียน” ในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จักการประชุมระดมสมองของโครงการวิจัยเรื่อง “พลวัตทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน ศึกษาเปรียบเทียบประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์” นำเสนอโดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิจัยในการประสานงานของโครงการฯ และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อินโดนีเซีย

ในการนำเสนอ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้เสนอให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศต่างๆ โดยเริ่มต้นจากอินโดนีเซีย อินโดนีเซียเป็นประเทศที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยนับตั้งแต่ปี 2541 หลังจากระบอบซูฮาร์โตล้มลง การเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกผู้แทนทุกๆ 5 ปีต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ อินโดนีเซียมีการจัดการเลือกตั้งในลักษณะนี้ไปแล้วเป็นจำนวน 4 ครั้งในปี 2542 2547 (เปิดให้มีการเลือกตั้งโดยตรง) 2552 และ 2557 โดยการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งเต็มไปด้วยการแข่งขันของฝ่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

นับตั้งแต่ปี 2541 หลังยุคซูฮาร์โตเป็นต้นมา ยังไม่พบว่ามีพรรคการเมืองใดสามารถครอบครองอำนาจทางการเมืองอย่างต่อเนื่องได้ แม้แต่พรรคโกลคาร์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองทรงอิทธิพล และเป็นรัฐบาลมาแล้วหลายสมัย ก็ไม่สามารถครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จได้ อีกทั้ง ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง มีการจัดให้มีระบบโควต้าที่กำหนดให้แต่ละพรรคจะต้องดำเนินการส่งผู้สมัครที่เป็นเพศหญิงเข้าลงสมัครรับเลือกตั้งในสัดส่วนอย่างน้อย 1 ใน 3 ของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

สำหรับการปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้งจะดำเนินการผ่านรัฐสภา การแก้กฎหมายต่างๆ มาจากการเห็นชอบของพรรคการเมืองต่างๆ ส่งผลให้ประชาธิปไตยในอินโดนีเซียมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะกติกาที่นำมาใช้ในการแข่งขันของพรรคการเมืองมาจากการเปิดให้พรรคการเมืองต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม การเลือกตั้งในแต่ละครั้งจึงเป็นไปอย่างสงบ ไม่มีความขัดแย้ง แม้จะเป็นประเทศหมู่เกาะที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของประชากร

ดังนั้นแล้ว กระบวนการปฏิรูปของประเทศจึงเห็นตรงกันว่าระบบการเลือกตั้งของอินโดนีเซียที่เป็นแบบหลายพรรค จะสะท้อนให้เห็นเสียงของประชาชนที่แตกต่างหลากหลาย และสามารถหลีกเลี่ยงการถูกครอบงำโดยพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ดังเช่นที่ปรากฎในยุคสมัยของพรรคโกลคาร์ ภายหลังการปฏิรูป พรรคการเมืองเข้ามามีบทบาทในสภาถึง 12 พรรค อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดความไร้เสรีภาพทางการเมือง อินโดนีเซียก็กำหนดห้ามไม่ให้มีการลงแข่งขันแบบอิสระ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่พรรคการเมือง

สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2552 อินโดนีเซียหันมาใช้ระบบปาร์ตี้ลิสต์แบบบัญชีเปิด (open-list) เป็นระบบที่เปิดให้ประชาชนสามารถเลือกพรรค และเลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย ซึ่งมีข้อดีคือเปิดให้ประชาชนมีอำนาจในการเลือกมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดอำนาจของนายทุนและกรรมการบริหารพรรค แต่ก็มีข้อเสีย เช่น ทำให้พรรคการเมืองมีความอ่อนแอมีความแตกแยกภายในพรรค เพราะผู้สมัครทุกคนแข่งกันเอง เน้นการนำเสนอคุณสมบัติของตนเอง แทนที่จะเน้นนโยบายของพรรค

แม้จะเป็นระบบพรรคการเมือหลายพรรค แต่ละพรรคการเมืองกลับมีอุดมการณ์ของพรรคคล้ายคลึงกันไม่ว่าจะเป็นมิติทางเศรษฐกิจ และการส่งเสริมรัฐสวัสดิการ ยกเว้นประเด็นเรื่องศาสนา นอกจากนี้ ยังพบว่าพรรคการเมืองบางพรรคเน้นชูผู้นำพรรคการเมืองเป็นหลัก เพื่อสนับสนุนให้ผู้นำพรรคเป็นประธานาธิบดีโดยไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน เมื่อผู้นำของพรรคตนเองหลุดออกจากตำแหน่ง พรรคก็จะเสื่อมความนิยมลงทันที เป็นต้น

มาเลเซีย

มาเลเซีย ถือเป็นประเทศที่มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งที่ไม่ค่อยบริสุทธิ์ยุติธรรม เนื่องจากบทบาทและอิทธิพลของพรรคอัมโน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแกนสำคัญในพรคแนวอัตลักษณ์ชาติที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน มากไปกว่านั้น การจัดเลือกตั้งแต่ละครั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักรัฐมนตรี ก็มักจะถูกครหาว่าดำเนินการเลือกตั้งโดยไม่โปร่งใส

นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด การออกกฎเกณฑ์การเลือกตั้งก็มักจะเอื้อให้กับรัฐบาลได้ผลประโยชน์ เช่น การกำหนดการเลือกตั้งเป็นวันพุธ ไม่อนุญาตให้ฝ่ายค้านจดทะเบียนเป็นพรรคเดียวกันได้ ไม่อนุญาตให้ใช้ภาพมหาเธในการหาเสียง ส่งผลให้หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งขาดความเป็นกลาง เป็นเครื่องมือในการเอื้อประโยชน์ให้กับรัฐ อีกทั้งยังเพิกเฉยต่อการตรวจสอบเรื่องการซื้อเสียงและการใช้งบประมาณของรัฐเพื่อมาใช้ในการหาเสียงให้แก่แนวร่วมฝ่ายรัฐบาล

ปัญหาที่สำคัญทางด้านโครงสร้างของการจัดการเลือกตั้งในมาเลเซียคือ การแบ่งเขตเลือกตั้งและจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละเขตที่มีจำนวนที่แตกต่างกันมาก ส่งผลให้พรรคฝ่ายค้านไม่สามารถเอาชนะฝ่ายรัฐบาลได้ แม้ฝ่ายค้านจะได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นจำนวนมากก็ตาม โดยวิธีการที่รัฐบาลเลือกใช้ก็คือ หากหน่วยเลือกตั้งใดมีผู้สนับสนุนรัฐบาลเป็นจำนวนมาก รัฐบาลก็จะแบ่งเขตการเลือกตั้งในพื้นที่ดังกล่าวออกเป็นหลายๆ เขต เมื่อผลการเลือกตั้งออกมารัฐบาลก็จะได้ที่นั่งจำนวนมากขึ้น

ส่งผลให้นายอันวาร์ อิบราฮีม ผู้ก่อตั้งพรรค PKR (Keadilan) และกลุ่มขบวนการเรียกร้องการปฏิรูปการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม (Bersih) ในปี 2550, 2554 และ 2555 ออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องให้มาเลเซียมีการจัดการเลือกตั้งที่มีความยุติธรรม ส่งผลให้พรรคแนวร่วมแห่งชาติถูกลดความนิยมลงเรื่อยๆ ตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2551 พรรคแนวร่วมแห่งชาติได้ที่นั่งไม่ถึง 2 ใน 3 เป็นครั้งแรก

การเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา การเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อหลีกเลี่ยงการควบคุมของรัฐบาล ส่งผลให้พรรคฝ่ายค้านได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ก่อนการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน รัฐบาลได้ออกกฎหมายเพื่อมาใช้ในการควบคุมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเผยแพร่ข่าวสารในช่วงก่อนการเลือกตั้งเป็นการเฉพาะ (anti-fake news) หากทางการตรวจพบว่ามีการโพสต์ข้อความใดก็ตามที่เป็นข้อมูลเท็จ จะถูกตัดสินจับคุกและจ่ายค่าปรับเป็นเงินมหาศาล ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งปรากฏว่านายมหาเธร์ได้นำพรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย  โดยชัยชนะครั้งนี้ทำให้มหาเธร์กลับเข้ามามีบทบาทในฐานะผู้นำประเทศอีกครั้ง

ฟิลิปปินส์

ส่วนฟิลิปปินส์ ใช้ระบบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐเช่นเดียวกับอินโดนีเซีย มีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาในทุกๆ 6 ปี ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเพื่อเข้าทำหน้าที่ในรัฐสภาจะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบ First Part the Post (FPTP) ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีในทุก 6 ปีนั้น จะแยกออกจากกันโดยไม่ต้องมาจากพรรคเดียวกัน

ฟิลิปปินส์ถือเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีการจัดการเลือกตั้งที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการใช้สถาบันการเลือกตั้งตั้งแต่สมัยที่สหรัฐฯ เข้ามาปกครอง ส่งผลให้ระบบประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์กระจุกตัวอยู่ที่เจ้าที่ดินและตระกูลการเมือง รวมถึงระบบอุปภัมถ์ที่แน่นหนา อำนาจรัฐอ่อนแอไม่สามารถควบคุมตระกูลการเมืองท้องถิ่นได้ อย่างไรก็ตาม แม้พรรคการเมืองจะอ่อนแอ การย้ายพรรคเป็นเรื่องปกติ เพราะแต่ละพรรคไม่อุดมการณ์ที่ชัดเจน แต่ยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้ เพราะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มการเมืองและชนชั้นนำต่างๆ โดยในปี 2556 ผู้แทนในสภากว่าร้อยละ 74 ถูกเลือกมาจากกลุ่มตระกูลการเมือง ส่งผลให้อำนาจทางการเมืองและทรัพยากรต่างๆ ของประเทศตกอยู่ในการควบคุมของตระกูลการเมือง อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังมานี้ การกุมอำนาจดังกล่าวเริ่มถูกท้าทายจากผู้สมัครหน้าใหม่ สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม

ฟิลิปปินส์มีการต่อสู่ทางการเมืองในสองกระแส ได้แก่ กระแสปฏิรูปนิยม และกระแสประชานิยม โดยดูแตร์เต อดีตนายกเทศมนตรีในเกาะมินดาเนามาถึง 22 ปี เข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ในปี 2559 เป็นผู้นำในสายประชานิยมแบบอำนาจนิยม มีการปลุกกระแสท้องถิ่นนิยม การกระจายอำนาจ และเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนรัฐเดี่ยวไปสู่ระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ ให้รัฐต่างๆ มีอำนาจอิสระในการออกนโยบายและการกำหนดงบประมาณต่างๆ แก่ท้องถิ่น สำหรับนโยบายที่ทำให้ดูแตร์เตได้รับความนิยมจากชนชั้นกลางและชนชั้นกลางระดับบนขึ้นมาก็คือ นโยบายปราบอาชญากรรมแบบ Law&Order “ฉันจะปกป้องคุณ”

การนำเสนอในครั้งนี้ได้เรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความในประเด็นที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอภิปราย ได้แก่ ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร, ผศ.ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง อ.ดร.ชัยวัฒน์ มีสันฐาน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณพินทุ์ดา ชัยนาม ผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันออก 1 กระทรวงการต่างประเทศ และคุณพงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน ผู้ประสานงานโครงการประจำประเทศไทยของมูลนิธิเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) อีกทั้งยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชนเข้ารับฟังอย่างเป็นสาธารณะ

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน