home

TRF-ASEAN Research Forum ครั้งที่ 8 เรื่อง “รายงานความก้าวหน้างานวิจัย: ละคร การเมืองและการย้ายถิ่นในอาเซียน”

กันยายน 7, 2017
TRF-ASEAN Research Forum ครั้งที่ 8 เรื่อง “รายงานความก้าวหน้างานวิจัย: ละคร การเมืองและการย้ายถิ่นในอาเซียน”

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 โครงการ “จับตาอาเซียน” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดประชุม TRF-ASEAN Research Forum ครั้งที่ 8 เรื่อง “รายงานความก้าวหน้างานวิจัย: ละคร การเมืองและการย้ายถิ่นในอาเซียน” ซึ่งเป็นเวทีนำเสนอข้อเสนอโครงการวิจัยใหม่จำนวน 3 โครงการให้กับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้อง อันประกอบไปด้วยตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยให้คมชัดขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัมพร จิรัฐติกร จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอความก้าวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง “การบริโภคละครโทรทัศน์ไทยผ่านเว็บไซด์ในกลุ่มประเทศอาเซียนและจีน: กรณีศึกษาประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและจีน”  ซึ่งเป็นการมุ่งศึกษาอิทธิพลของกระแสวัฒนธรรมบันเทิงของละครไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการอันเปิดโอกาสให้มีการสื่อสารในระดับประชาชนผ่านพื้นที่สาธารณะของสื่อสังคมออนไลน์

ผศ.ดร. อัมพร กล่าวว่า ละครไทยถือได้ว่าเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมและได้รับความนิยมในหลายประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนมากหันมาให้ความสนใจผลิตละครไทยสำหรับเผยแพร่ไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากสามารถเลือกได้ว่าต้องการรับชมละครเรื่องใด โดยผู้ชมกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น ขณะเดียวกัน จำนวนผู้ประกอบการที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้การผลิตละครไทยมีการแข่งขันทางการตลาดที่สูง ทำให้ผู้ผลิตละครจะต้องหาอัตลักษณ์ของตนเอง เช่น แนวดราม่า ชายรักชาย เป็นต้น

สำหรับตลาดโทรทัศน์เวียดนาม ละครไทยเป็นที่นิยมเห็นได้จากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เวียดนามได้นำเข้าละครโทรทัศน์ของไทยจาก 5 สถานี โดยเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีเพียง 2-3 สถานีเท่านั้น เมื่อมีการนำเข้าละครไทยต่างสถานีมากขึ้น ส่งผลให้แนวละครไทยมีความหลากหลายตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ละครไทยจะได้รับโอกาสให้เผยแพร่ผ่านช่องทางที่เป็นทางการผ่านทางถานีโทรทัศน์ของเวียดนามมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีกระบวนการเซ็นเซอร์ให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเพศที่สาม การเมือง และความรุนแรงที่ปรากฎในละคร

นอกจากนี้ ผศ.ดร. อัมพร ตั้งข้อสังเกตว่า ละครอินเดียก็เริ่มขยายตัวมากขึ้นในเวียดนามเช่นกัน เนื่องจากมีราคาถูก และมีเนื้อหาที่ร่วมสมัย ขณะที่ละครเกาหลีในเวียดนามมีแนวโน้มอยู่ในจุดอิ่มตัว กระทั่งสถานีโทรทัศน์บางช่องได้งดการนำเข้าละครเกาหลีแล้ว

ส่วนตลาดในอินโดนีเซียมีการนำเข้าภาพยนต์ไทยมากขึ้น 80 เรื่อง ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี เฉลี่ยประมาณเดือนละ 1 เรื่อง โดยผู้นำเข้า ระบุว่า กระแสความนิยมละครไทยในอินโดนีเซียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น  แนวผี แนววัยรุ่น และแนววาย (ชายรักชาย) เป็นต้น พร้อมเตรียมจัดสร้างสถานที่เปิดฉายภาพยนตร์อีกอย่างน้อย 1,500 แห่งทั่วประเทศ เนื่องจากอินโดนีเซียมีวัฒนธรรมการนัดรวมตัวกันเพื่อเข้าชมภาพยนตร์ตามโรงภาพยนตร์ ขณะที่ละครไทยในอินโดนีเซียยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก เนื่องจากมีเนื้อหาที่ยาวและละครเกาหลียังครองตลาดผู้ชมในอินโดนีเซีย ประกอบกับระบบการเซ็นเซอร์ที่เข็มงวดของหน่วยงานรัฐ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่นิยมนำเข้าละครไทย

สำหรับตลาดโทรทัศน์ในจีน ละครไทยแพร่หลายอย่างมากในช่วงปี 2551-2554 โดยวัดจากเรทติ้งการเข้ารับชม ละครบางเรื่องมีการฉายซ้ำมากถึง 3-4 ครั้ง โดยแต่ละครั้งก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อถึงปี 2555 ละครไทยในจีนได้รับความนิยมที่ลดต่ำลงอย่างมาก โดยมีสาเหตุหลายประการ เช่น นโยบายป้องกันอุตสาหกรรมของจีน เนื้อหาละครไทยไม่มีความหลากหลาย กระบวนการเซ็นเซอร์ที่ยุ่งยาก ตลอดจนช่วงเวลาและช่องทางในการออกอากาศ เช่น รัฐบาลจีนมีการออกประกาศห้ามไม่ให้ฉาภาพยนตร์ไทยในเวลา 19.00-22.00น. ส่งผลให้ต้องย้ายเวลาการออกอากาศไปอยู่ในช่วงหลังเที่ยงคืนซึ่งหาโฆษณายาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่นิยมนำเข้าละครไทย ขณะที่ละครอินเดียเริ่มขยายตัวในจีน

ในช่วงท้ายของการนำเสนอ ผศ.ดร. อัมพร กล่าวว่า หัวใจสำคัญของโครงการวิจัยชิ้นนี้คือ “การรับชมทางอินเตอร์เน็ต” โดยจากการศึกษา พบว่า กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-30 ปี หันมารับชมละครผ่านทางอินเตอร์เน็ตและไม่รับชมผ่านทางโทรทัศน์อีกต่อไป เนื่องจากสามารถดูได้เรื่อยๆ และสามารถเข้าถึงละครใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ นอกจากผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้รับชมละครแล้ว กลุ่มแฟนซับ (คนแปลซับละครและภาพยนตร์) ก็ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญอย่างที่ที่ทำให้ธุรกิจละครไทยขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว เช่น เวียดนาม เนื่องจากมีคนรู้ภาษาไทยเป็นจำนวนมาก ขณะที่ อินโดนีเซียมีแฟนซับภาษาไทยค่อนข้างน้อย เพราะส่วนใหญ่ดูเป็นภาษาอังกฤษ

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอรายงานความก้าวหน้าวิจัยเรื่อง “พลวัตทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน: ศึกษาเปรียบเทียบประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์” โดยชูประเด็นเรื่องการเมืองเรื่องเลือกตั้ง (electoral politics) ศึกษาเปรียบเทียบ ความเปลี่ยนแปลงกระบวนการเลือกตั้งในสามประเทศนี้ เปลี่ยนจากพื้นที่ทางการเมืองที่ถูกควบคุมโดยชนชั้นนำมาเป็นพื้นที่การแข่งขันนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งในระบอบและโครงสร้างทางการเมือง การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีการขยับเปลี่ยนแปลง สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในประเทศนั้น ๆ โดยอินโดนีเซียมีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด  ส่วนมาเลเซียแม้โดนท้าทายจากฝ่ายค้านหรือชนชั้นนำใหม่แต่ก็ยังถูกคุมโดยพรรคอัมโน สำหรับฟิลิปปินส์แม้ดูแตร์เตอาจไม่ได้มาจากชนชั้นอื่นที่ไม่ใช่ชนชั้นนำทางการเมืองอย่างแท้จริง เพราะนักการเมืองกว่าร้อยละ 74 มาจากตระกูลการเมือง

สถานการณ์ในมาเลเซียที่ผ่านมามีการกำหนดเขตเลือกตั้งแบบเอาเปรียบ (gerrymandering) และแบ่งเขตเลือกตั้งตามฐานประชากรที่ไม่เหมาะสมด้วยการแทรกแซงของพรรคอัมโนต่อกิจการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง บางเขตเลือกตั้งมีประชากรน้อยกว่า แต่กลับมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการเลือกตั้ง ดังนั้น ฝ่ายค้านจึงต้องการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดย ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้มาเลเซียเกิดความเปลี่ยนแปลงคือบทบาทสื่อ และโลกออนไลน์ซึ่งตื่นตัวและรายงานข่าวเรื่องการทุจริตจนในปัจจุบันนี้มีการกล่าวว่า นายนาจิบ ราซัคนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเรียกว่าเป็น Malaysia’s first Social media election และเมื่อการควบคุมข่าวสารอย่างเข้มงวดโดยรัฐไม่อาจทำได้อีกต่อไป ผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองและชาวมาเลย์เชื้อสานจีนหันไปเลือกฝ่ายค้าน ขณะที่กลุ่มคนที่ใช้โซเชียลมีเดียมักเป็นคนอายุน้อย และคนกลุ่มนี้เองที่หันไปเลือกฝ่ายค้านมากกว่า อย่างไรก็ตาม พรรคอัมโนยืนยันว่าจะหาเสียงแบบเก่าเพราะสู้กับแบบใหม่ไม่ได้ ซึ่งทำให้เกิดเป็นระบบหัวคะแนนขึ้นมา

ในส่วนของอินโดนีเซียนั้น หลังระบบซูฮาร์โตล่มสลาย ระบบเลือกตั้งใน“ระบบบัญชีรายชื่อที่มีระบบเขต” แบบที่ถูกนำมาใช้ ซึ่งประกอบด้วยเขตขนาดเล็ก 10-12 ที่นั่ง ระบบการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นผลมาจากกระประนีประนอมของพรรคการเมืองต่างๆ จนกระทั่งการเลือกตั้งในปี 2552 ระบบการเลือกตั้งเปลี่ยนเป็นแบบ Open list ซึ่งนอกจากประชาชนจะเลือกพรรคได้แล้ว ยังสามารถเลือกผู้สมัครได้ด้วย ตัวแบบของอินโดนีเซียได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นระบบการเลือกตั้งที่ให้ทุกพรรคมีส่วนร่วมในการต่อรองกัน พรรคการเมืองจึงมีความเข้มแข็ง มีสาขาพรรคทุกจังหวัด ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพรรคการเมืองของมาเลเซียที่มีฐานทางประชากรที่ชัดเจนจากการที่เป็นตัวแทนกลุ่มสังคม

อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองในอินโดนีเซียก็มีลักษณะคล้ายฟิลิปปินส์มากขึ้น ในด้านการจัดตั้งพรรคใหม่ๆ นี้ไม่มีฐานการเมืองที่ชัดเจนเหมือนก่อน ปัจจุบันการเลือกตั้งในอินโดนีเซียจึงเป็นลักษณะธนกิจการเมือง และระบบอุปถัมภ์ เกิดเป็นประชานิยมแบบปฏิบัตินิยมแบบนายวิโดโด กับประชานิยมแบบ strongman ของนายปราโบโว ผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นนายวิโดโดได้รับชัยชนะแบบเฉียดฉิว

ผศ.ดร.ประจักษ์ ได้ปิดท้ายการนำเสนอที่การเมืองฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน พรรคการเมืองยังคงเป็นตัวแทนของชนชั้นนำ อำนาจและทรัพยากรกระจุกอยู่ที่คนหยิบมือเดียว ประชาชนไม่มีความผูกพันกับพรรคการเมือง เจ้าพ่อท้องถิ่นเข้มแข็ง มีการซื้อเสียงเยอะคล้ายกับการเมืองไทยก่อนมีรัฐธรรมนูญปี 2540 พรรคการเมืองอ่อนแอ ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งมีบางตระกูลเข้ามาพร้อมกัน 7-8 คน ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ กลุ่มที่จะเข้ามาท้าทายตระกูลการเมืองเหล่านี้ได้ต้องเป็นคนมีชื่อเสียงเป็น ดารา นักแสดง หรือนักกีฬา ขณะที่นายดูแตร์เต ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เพราะเล่นบทบาทนักการเมืองที่เป็นผู้ดี มีการศึกษา เป็นนักการเมืองที่มีธรรมาภิบาล ท้าทายนักการเมืองกลุ่มเดิทที่เป็นชนชั้นนำในมะนิลา และชนชั้นกลาง ตลอดจนชนชั้นสูงได้รับแรงหนุนจากดูแตร์เต เนื่องจากชื่นชอบนักการเมืองเข้มแข็ง มีระเบียบ

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ประจักษ์ได้กล่าวสรุปปิดท้ายว่าอินโดนเซียมีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ในขณะที่มาเลเซียคุมระบบการเลือกตั้งแบบเก่าได้ และในส่วนของฟิลิปปินส์นั้นยังเป็นการปะทะกันระหว่างนักปฏิรูป และนักประชานิยม ยังมีการรักษาโครงสร้างอำนาจตระกูลการเมืองได้ แต่เสนอในรูปแบบอื่นที่เข้มแข็งมากขึ้น

สุดท้าย อาจารย์อนุสรณ์ ชัยอักษรเวช หลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นำเสนอความก้าวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง “อาเซียนกับระบบการอภิบาลภูมิภาคในเรื่องการย้ายถิ่นแบบไม่ปกติของชาวโรฮิงญา” โดย อ.อนุสรณ์ ได้นำเสนอการนิยามและจัดแบ่งประเภทชาวโรฮิงญาตามสถานะผู้ย้ายถิ่นแบบต่างๆ ทั้งการไม่ยอมรับชาวโรงฮิงญาในฐานะพลเมืองเมียนมา การใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในเมียนมา และการไม่เป็นภาคีของอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับบุคคลไร้รัฐและสถานะของผู้ลี้ภัยของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้

สถานการณ์ความรุนแรงทั้งก่อนการเกิดขึ้นของเมียนมา และหลังการเกิดขึ้นของเมียนมาส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นที่ไม่ปกติ และทำให้สถานะของชาวโรงฮิงญานั้นไม่แน่นอน ชาวโรงฮิงญาได้เลือกอพยพไปบังคลาเทศทางทะเล ซึ่งนำไปสู่ประเด็นปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ อ.อนุสรณ์ มองว่า การที่มีคนอพยพนับหมื่นคนเช่นนี้เป็นวิกฤติ และมีประเด็นสำคัญว่าจะจัดการระบบอภิบาลให้คนเหล่านี้อย่างไร ประเทศอาเซียนไม่ได้อยู่ในภาคีเรื่องผู้ย้ายถิ่น ในเมื่อไม่ได้อยู่ในอนุสัญญาแล้วจะจัดการปัญหาอย่างไร ทั้งนี้ อ.อนุสรณ์ ได้แบ่งกลุ่มรูปแบบระบบการอภิบาลการย้ายถิ่นแบบไม่ปกติระดับภูมิภาคทั้งในและนอกกรอบอาเซียน ดังนี้

สำหรับระบบการอภิบาลการย้ายถิ่นแบบไม่ปกติระดับภูมิภาคในกรอบอาเซียนมีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วน ได้แก่ (1) การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (ASEAN Ministerial Meeting on Transnational Crime: AMMTC) (2) อนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ASEAN Convention Against Trafficking in Persons, Especially Women and Children: ACTIP) และ (3) แผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ASEAN Plan of Action Against Trafficking in Persons, Especially Women and Children : APA) โดยชาติอาเซียนจะต้องร่วมกันดำเนินการตามระบบการอภิบาลดังกล่าว ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย แบ่งปันข่าวสารและความเชี่ยวชาญ รวมถึงการแลกเปลี่ยนข่าวกรอง เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงและอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งนี้ ตามระบบการอภิบาลข้างต้นถือว่า กรณีชาวโรฮีนจาถือเป็นกลุ่มบุคคลที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมข้ามชาติ

ส่วนระบบการอภิบาลการย้ายถิ่นแบบไม่ปกติระดับภูมิภาคนอกกรอบอาเซียน ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ (1) กระบวนการบาหลี (Bali Process) เป็นกระบวนการที่สนับสนุนให้เกิดเวทีการพูดคุยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชาวโรฮีนจา อันนำไปสู่การแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นหนทางหนึ่งในการแบ่งปันภาระ (burden sharing) การจัดการปัญหาของชาวโรฮีนจา อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปในลักษณะเปิดกว้างและไม่มีผลผูกพัน (2) เวทีการประชุมร่วมกันที่รัฐอาเซียนสร้างขึ้น เช่น การประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการเคลื่อนย้ายแบบไม่ปกติของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการประชุมวาระพิเศษว่าด้วยการย้ายถิ่นแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งทำให้เกิดการผลักดันประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชาวโรฮีนจาสู่วาระของรัฐในภูมิภาค ส่งผลให้กระบวนการบาหลีที่เปิดกว้างต่อรัฐที่ไม่ได้เข้าร่วมในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ และ (3) การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ภาคประชาสังคมควรมีพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบการดำเนินการ ตลอดจนแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน