home

Current Issue: 01/62 สงครามการค้าสหรัฐฯ–จีน และผลกระทบต่ออาเซียน

มิถุนายน 20, 2562
Current Issue: 01/62 สงครามการค้าสหรัฐฯ–จีน และผลกระทบต่ออาเซียน

สงครามการค้าสหรัฐฯ–จีน และผลกระทบต่ออาเซียน

กองบรรณาธิการ

บทนำ

ตามนโยบาย “อเมริกามาก่อน” (America first policy) สหรัฐอเมริกาภายในการนำของประธานาธิบดีคนที่ 45 นายโดนัล ทรัมป์ให้ความสำคัญกับการปกป้องอุตสาหกรรมภายในสหรัฐอเมริกา และพลิกฟื้นอุตสาหกรรมให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง ทรัมป์มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสียเปรียบประเทศคู่ค้าที่เป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญและส่งกลับเข้ามาขายในสหรัฐฯ อีกทั้งสหรัฐยังสูญเสียรายได้ภาษีนิติบุคคลจากการที่บรรษัทข้ามชาติสัญชาติสหรัฐฯ ย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลทำให้การจ้างงานในภาคการผลิตของสหรัฐลดลงอีกด้วย ภายใต้นโยบายนี้ สหรัฐฯได้ออกมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศหลายวิธีด้วยกัน อาทิ การเก็บภาษีสินค้านำเข้า การกระตุ้นการส่งออกผ่านการปรับโครงสร้างต้นทุนภาคการผลิต โดยในเดือนเมษายน 2561 สหรัฐฯ เริ่มมีการกำหนดพิกัดอัตราต่อสินค้านำเข้าเหล็กในอัตราร้อยละ 25 และอลูมิเนียมร้อยละ 10 ต่อทุกประเทศทั่วโลก

ทำความรู้จัก trade war

โดนัล ทรัมป์ เริ่มวิพากษ์วิจารณ์วิธีการปฏิบัติทางการค้าของจีนมาตั้งแต่สมัยก่อนขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากขึ้นดำรงตำแหน่งในปี 2559 ทรัมป์ออกรณรงค์ปราบปรามวิธีปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน (Chinese trade abuses) โดยกล่าวอ้างถึงเรื่องการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property theft) รวมถึงการบีบบังคับให้บริษัทที่เข้าไปลงทุนในจีนต้องถ่ายโอนเทคโนโลยี (forced technology transfer) สงครามการค้าจึงเป็นผลจากการตอบโต้ด้วยมาตรการกำแพงภาษีแบบตาต่อตาฟันต่อฟันระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2561 โดยสหรัฐฯ เป็นฝ่ายเริ่มสงครามการค้าในครั้งนี้ด้วยการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ที่เป็นผลจากนโยบาย “อเมริกามาก่อน (America first policy)” ทั้งนี้ ทรัมป์อาศัยอำนาจตามมาตรา 301 แห่งรัฐบัญญัติการค้า ค.ศ.1974 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการค้าโดยมิชอบและการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจประธานาธิบดีในการกำหนดค่าปรับหรือบทลงโทษอื่นต่อคู่ค้าฝ่ายเดียวได้หากถือว่าทำร้ายผลประโยชน์ทางธุรกิของสหรัฐฯ โดยมิชอบ โดยสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มบานปลายขึ้นหลังจากจีนตอบโต้ด้วยมาตรการทางภาษีและมาตรการอื่นๆ อย่างไม่ยอมลดละเช่นเดียวกัน

4

ผลกระทบต่ออาเซียน

ในภาพรวมสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติต่างตัดสินใจย้ายฐานการผลิตโดยตรงมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ ในแถบนี้ต่างเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบในเชิงบวกจากสงครามการค้า เนื่องจาก 1 ใน 3 ของบริษัทในอเมริกากว่า 430 แห่งต่างตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากจีน หลังจากสหรัฐฯ และจีนต่างแข่งขันในสนามการค้าและกำแพงภาษี สร้างความตึงเครียดให้กับการผลิตและการส่งออกในภาคอุตสาหกรรม นอกจากประเทศไทยแล้ว ชาติสมาชิกอาเซียนทั้งมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซียต่างได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างมีนัยสำคัญ

มาเลเซีย

มาเลเซียถือเป็นประเทศที่สร้างโอกาสจากสงครามการค้าโดยเสนอตัวเองเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนแทน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบจากสงครามการค้า นอกจากนี้มาเลเซียยังไม่เลือกข้างในสงครามการค้าครั้งนี้เนื่องจากทั้งจีน และสหรัฐฯ ต่างเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับหนึ่งและอันดับสองของมาเลเซียตามลำดับ

รายงานของ The Economist Intelligence Unit (EIU) ที่เผยแพร่ออกมาในเดือนพฤศจิกายน 2561 ชี้ให้เห็นว่าการที่มาเลเซียได้รับประโยชน์จากสงครามการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอุตสาหกรรมไอซีที และยานยนต์อัจฉริยะ เป็นผลมาจากจุดแข็งด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจในประเทศและบริบทระหว่างประเทศดังนี้

ประการแรก มาเลเซียมีโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งที่เพียบพร้อม ทั้งถนน ทางรถไฟ และท่าเรือ เครือข่ายโลจิสติกส์ที่เข้มแข็งสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะธุรกิจส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ที่มาเลเซียมีความเชี่ยวชาญมาอย่างยาวนาน บริษัทใหญ่ๆ ทางด้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เดลล์ โซนี่ และพานาโซนิค จึงให้ความสนใจมาเลเซียเข้ามาลงทุนและสร้างฐานการผลิตในประเทศอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะและชิ้นส่วนยานยนต์ มาเลเซียยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ และฐานการผลิตสำคัญจากการที่มาเลเซียมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์กว่า 800 แห่งในประเทศ ครอบคลุมทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ขนาดใหญ่และส่วนประกอบอื่นๆ

ต่อมาคือมาเลเซียมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในข้อตกลงการค้าทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีต่าง ๆ มาเลเซียลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีแล้วทั้งสิ้น 13 ฉบับ นอกเหนือจากการเร่งรัดมาตรการด้านการค้าและการลงทุนผ่านกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว มาเลเซียยังให้ความสำคัญกับการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans–Pacific Partnership: CPTPP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) สร้างความเกี่ยวโยงและสัมพันธ์ กับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ซึ่งมีขนาด GDP ถึง 1 ใน 3 ของโลก

นอกจากนั้นในบริบทความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ มาเลเซียได้รับอานิสงค์จากต้นทุนในการนำเข้าสินค้าของจีน และสหรัฐฯในบางรายการที่สูงขึ้น ทำให้ทั้งสองประเทศต้องเร่งหาฐานการผลิตและแหล่งนำเข้าสินค้าใหม่ ๆ เช่น การที่จีนลดการนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ลงร้อยละ 25 จากเดิมที่นำเข้าร้อยละ 60 เพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์และน้ำมันพืช จีนจึงต้องหันมานำเข้าปาล์มน้ำมันจากมาเลเซียเพิ่มขึ้นแทน นอกจากนี้การที่จีนขึ้นกำแพงภาษีผลิตภัณฑ์เนื้อหมูจากสหรัฐฯ ยังเป็นผลดีต่อมาเลเซียในการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังจีนแทนสหรัฐอีกด้วย

EIU วิเคราะห์ว่าเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ จะเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ได้รับความสนใจจากบรรษัทข้ามชาติด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศมี การทำสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนกลับส่งผลดีต่อผลประโยชน์ในระยะสั้นและระยะกลางของมาเลเซีย ในขณะที่มาเลเซียสามารถอาศัยจังหวะของความขัดแย้งทางการค้า ส่งออกสินค้าบางรายการไปยังทั้งสองประเทศนี้ สงครามการค้าอาจยังจะกระตุ้นให้บรรษัทข้ามชาติต้องหาฐานการผลิตใหม่เพื่อเลี่ยงข้อจำกัดทางภาษี และ/หรือ สร้างฐานการผลิตใหม่ในมาเลเซียในอนาคตอันใกล้ เนื่องด้วยความพร้อมด้านโครงสร้างทางการลงทุนและเสถียรภาพทางการเมือง

เวียดนาม

ธนาคารพัฒนาเอเชียเผยว่าในปีที่ผ่านมาเวียดนามมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 6.81 มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และถือว่าเป็น ตัวเลขที่สูงที่สุดในตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของเวียดนาม ในปี 2561 จะยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อย่างน้อย ร้อยละ 6.5 โดยมีแรงผลักดันจากอุปสงค์ภายในประเทศและการผลิตที่เน้นการส่งออก สวนกระแสประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคที่ได้รับพิษจากสงครามการค้าและความแข็งแกร่งของสกุลเงินดอลลาร์ และด้วยปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ใกล้กับจีน และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมืองที่มีมาอย่างยาวนานของทั้ง 2 ประเทศ ผู้ผลิตสินค้าของจีนได้ย้ายฐานการผลิตออกไปยังประเทศใกล้เคียงซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าอย่างเวียดนาม เพื่อลดต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้นจากการที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า เช่นเดียวกับบริษัทเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและไต้หวันที่ต่างพากันเข้าไปลงทุนในเวียดนาม

นอกจากนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการส่งออกและการลงทุนโดยตรงของเวียดนามยังได้รับอานิสงค์จากความสนใจของสหรัฐฯ ในสินค้า วัตถุดิบ ตลอดจนบรรยากาศการลงทุนในเวียดนามที่มีจุดเด่นด้านแรงงานราคาถูกและขนาดตลาดภายในประเทศที่ใหญ่ด้วยประชากรกว่า 90 ล้านคน  สหรัฐฯยังเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตภัณฑ์เส้นใย สินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเวียดนามคิดเป็นมูลค่าราว 46,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากสถิติของกระทรวงการลงทุนเวียดนามระบุว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้เวียดนามได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรวมประมาณ 11,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าของปีที่แล้วร้อยละ 9.2 ในจำนวนนั้นมีบรรษัทข้ามชาติชั้นนำสัญชาติอเมริกันอย่างฟอร์ด และอินเทลที่เข้ามาขยายฐานการผลิตในเวียดนามเช่นกัน

เวียดนามอาศัยจังหวะที่สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีทางการค้ากับจีนมาเป็นโอกาสให้เวียดนามส่งออกสินค้าและดึงดูดการลงทุนจากสหรัฐฯ แทน ในขณะที่สำหรับการค้ากับจีนนั้นเวียดนามก็ยังสามารถดำเนินความสัมพันธ์ได้เช่นเดิม นอกจากการปรับตัวในความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจแล้ว ชาติสมาชิกอาเซียนควรพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของตลาดการค้าและการลงทุนในภูมิภาค เพื่อเป็นทางออกและทางเลือกเพื่อลดความเสี่ยง และเตรียมรับมือกับสงครามการค้าที่กำลังจะเกิดขึ้น

สิงคโปร์

เศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปีนี้ขยายตัวได้ช้าลง และคาดว่าเศรษฐกิจจะโตขึ้นที่ร้อยละ 2.5–3.5 ทั้งนี้ สงครามการค้าอาจสร้างโอกาสให้สิงคโปร์ แต่ก็ต้องสร้างสมดุลระหว่างผลเสียที่เกิดขึ้นด้วย เนื่องจากทั้งสิงคโปร์และจีนเป็นผู้ส่งออกหลักในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์จึงอาจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าด้วย

อย่างไรก็ตามสิงคโปร์อาจจะได้ผลประโยชน์จากการที่บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตออกจากจีน และเบนเข็มการลงทุนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน สิงคโปร์อาจได้ประโยชน์จากภาคบริการในการค้าส่ง การขนส่งและการให้บริการคลังเก็บสินค้า แม้ว่าบริษัทต่างชาติอาจไปตั้งโรงงานที่ประเทศใกล้เคียงสิงคโปร์ก็อาจจะได้ประโยชน์ทางอ้อมจากการที่บริษัทนั้นๆ มาตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศ ทว่าต้องอาศัยระยะเวลาพอควรเนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาว บริษัทต่างชาติไม่สามารถมาลงทุนสร้างโรงงานหรือสำนักงานในระยะเวลาสั้นๆ

ในส่วนของภาคการผลิตนั้นมีกำลังการผลิตลดลงร้อยละ 0.2 ขณะที่ การจ้างงานยังมีแนวโน้มที่ดี ค่าแรงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากปี 2550 และอัตราการจ้างงานยังมีการขยายตัวขึ้น โดยมีผู้ได้รับการจ้างงานเพิ่มอีก 10,100 ตำแหน่ง นอกจากนี้ในด้านการเมือง สงครามการค้าจะส่งผลต่อการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากสิงคโปร์เป็นพันธมิตรกับทั้งสองประเทศ

อินโดนีเซีย

อินโดนีเซียได้ประโยชน์จากสงครามการค้าในครั้งนี้ในหลายด้านอาทิ ปัจจัยในทางภูมิศาสตร์ในการเป็นจุดส่งต่อสินค้าไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาค ความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมสิ่งทอของอินโดนีเซีย รวมไปถึงการเป็นผู้ส่งออกถั่วเหลืองไปยังจีนรายใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ เมื่อจีนถูกกีดกันทางการค้า โดยมีปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญ คือ การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผ่านมารัฐบาลอินโดนีเซียได้ดำเนินการลดมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมการส่งออก นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาการค้าเสรี 13 รายการ เช่น European Free Trade Association (EFTA) และ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียยังมีความกังวลว่าสินค้าจากจีนจะไหลเข้ามาตีตลาดสินค้าในอินโดนีเซียเพื่อทดแทนการส่งออกไปยังสหรัฐฯที่มีข้อจำกัดมากขึ้น เนื่องจากสินค้าอินโดนีเซียนั้นยังไม่มีความเข้มแข็ง และไม่มีสินค้าหลากหลายในการแข่งขันกับสินค้าจีน

สำหรับชาติสมาชิกอื่น ๆ ในอาเซียน ได้แก่ บรูไน ลาว ฟิลิปปินส์ เมียนมา และกัมพูชา ยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าไม่มากนัก

บรูไน ยังคงห่างไกลจากความตึงเครียดจากสงครามการการค้าเนื่องจากการส่งออกของบรูไนไปยังสหรัฐอเมริกาและจีนยังค่อนข้างจำกัด โดยตัวเลขการส่งออกของบรูไนไปยังจีนและสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนของมูลค่าเศรษฐกิจร้อยละ 2.2 และร้อยละ 0.4 ตามลำดับ

ลาว ผลกระทบของความตึงเครียดทางการค้าต่อลาวยังน้อยมาก แม้ว่าจีนจะเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการส่งออกอันดับต้น ๆ ของลาว อย่างไรก็ตามเนื่องจากการส่งออกส่วนใหญ่ของลาวไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องจักรและสินค้าขั้นกลาง (intermediate goods) แม้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของผลกระทบแต่การกำหนดอัตราภาษีศุลกากรสหรัฐฯ สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จีนอาจส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ของลาวในอนาคต

ฟิลิปปินส์ อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ เหล็ก ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเนื้อหมู แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเติบโตของฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้นจึงมีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของการค้าน้อยเมื่อเทียบกับชาติสมาชิกอื่นในอาเซียน

เมียนมา ยังอยู่ในช่วงที่จะต้องประเมินสถานการณ์ของผลกระทบจากสงครามการค้าต่อไปท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าอย่างต่อเนื่องจากการที่จีนขึ้นภาษีศุลกากรของสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ รวมถึงการบริโภคปศุสัตว์ของจีนที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยด้านการลงทุน นักลงทุนจากประเทศจีนให้ความสนใจที่จะตั้งฐานการผลิตในเขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาว่าของเมียนมา (Thilawa Special Economic Zone) อาจทำให้เมียนมามีโอกาสจากสงครามการค้ามากขึ้นในอนาคต โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ ปศุสัตว์ การลงทุนจากต่างประเทศ ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์น้ำ เป็นต้น

กัมพูชา สำหรับการส่งออกส่วนใหญ่ของกัมพูชา แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเป็นปลายทางการส่งออกอันดับต้น ๆ แต่การส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าประเภทสิ่งทอและเสื้อผ้า ทำให้กัมพูชาไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าโดยตรง

 

สงครามการค้าและผลกระทบต่อไทย

ถึงแม้ว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมาเป็นความขัดแย้งทางเศรษฐกิจการเมืองของชาติมหาอำนาจ เหตุการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในเชิงบวกและเชิงลบเนื่องจากไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของทั้งสองชาติ ดังนั้นไทยจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันตลาดโลก

ไทยมีความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ดีต่อชาติมหาอำนาจทั้งสองมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเย็นในฐานะชาติพันธมิตรในค่ายเสรีนิยม แต่หลังจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศไม่ค่อยสู้ดีนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อจากนายบารัค โอบามา ความสัมพันธ์ไทย–สหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ให้ความสนใจต่อเรื่องผลประโยชน์มากกว่าค่านิยมทางการเมือง สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับสองของไทยในแง่ของการส่งออก โดยข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้ระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคม–กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา การค้าไทย–สหรัฐฯ สามารถคิดเป็นมูลค่าได้ถึง 15,865 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่วนใหญ่ที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ได้แก่ สินค้าจำพวกคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ

ขณะที่ ไทยกับจีนก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ปัจจัยประการหนึ่งมาจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีระยะทางใกล้ในการติดต่อคมนาคม รวมถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชาวไทยและชุมชนไทยเชื้อสายจีนในประเทศ ส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนโดยผู้ประกอบธุรกิจชาวจีนที่มาจากแผ่นดินใหญ่นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ในส่วนความสัมพันธ์ทางการเมืองนั้น หลังจากที่คณะ คสช. ขึ้นมาบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2557 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลของทั้งประเทศก็มีความใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยสามารถสังเกตจากการบรรลุข้อตกลงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ในปี 2560

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าไทยจะมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งด้านการเมืองและการค้าต่อชาติมหาอำนาจทั้งสอง สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนก็ส่งผลกระทบไม่น้อยต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในเชิงบวกและเชิงล

ผลกระทบเชิงบวกที่ไทยจะได้รับจากสงครามการค้าคือการย้ายฐานการผลิตของจีนจากสหรัฐฯ มายังไทยมากยิ่งขึ้นอันเนื่องมาจากเหตุผลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยที่อยู่กึ่งกลางภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้และมีทางออกทะเล ทำให้สามารถกระจายสินค้าไปยังตลาดอื่นๆ ได้ และยังสามารถสร้างงานให้แก่แรงงานได้อีกด้วย ในแง่ของการส่งออก ไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรได้มากขึ้น เช่น ผลไม้เมืองร้อน, ถั่ว และธัญพืช เนื่องจากเป็นรายการสินค้าที่ทางการจีนใช้ตอบโต้ทางการสหรัฐฯ ดังนั้นจีนจึงต้องนำเข้าสินค้าเกษตรจากตลาดอื่นเพื่อทดแทนการนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าดังกล่าว ในส่วนสหรัฐฯ นั้น เนื่องจากทางการได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน ทำให้สหรัฐฯ จึงต้องหาสินค้านำเข้าจากตลาดอื่นเพื่อทดแทนการนำเข้าจากจีนเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ไทยจะสามารถส่งออกสินค้าจำพวกอุปกรณ์และเครื่องจักรไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ทางการสหรัฐฯ กีดกันจากจีน ในขณะเดียวกัน การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ก็จะมีราคาถูกลง เนื่องจากสหรัฐกีดกันการนำเข้าจากจีนและพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง
นโยบายอเมริกามาก่อน (American First) และการกีดกันทางการค้าของนายทรัมป์ ยังส่งผลให้ชาติพันธมิตรในเอเชียเช่น ญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน จึงส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องหันมาลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงมากขึ้น ทั้งนี้สามารถสังเกตได้จากการที่ญี่ปุ่นและจีนมีข้อตกลงร่วมมือพัฒนาโครงการเมืองอัจฉริยะในจังหวัดชลบุรี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมชั้นสูง ตลอดจนการพัฒนาตามแนวนโยบาย Thailand Plus One ดังนั้น สงครามการค้าระหว่างชาติมหาอำนาจจึงเปิดโอกาสให้ไทยพัฒนาขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าครั้งนี้ก็ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทยเช่นเดียวกัน เนื่องจากทางการสหรัฐดำเนินนโยบายขึ้นกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีน ทำให้จีนนั้นมีอำนาจการซื้อที่น้อยลงซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังจีน เนื่องจากไทยเป็นส่วนหนึ่งหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีน เมื่อจีนมีอำนาจการซื้อที่น้อยลง อาจส่งผลให้ไทยส่งออกสินค้าเกษตร และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ได้น้อยลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากสหรัฐฯ กีดกันสินค้าเทคโนโลยีจากจีนซึ่งพึ่งพาชิ้นส่วนจากไทย ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังเสี่ยงต่อการทุ่มตลาดของชาติมหาอำนาจทั้งสองเนื่องจากความต้องการระบายสินค้าออกไปยังต่างประเทศที่ไม่ใช่คู่กรณีอีกด้วย

ในขณะเดียวกัน ไทยยังมีปัญหาในด้านเสถียรภาพทางการเมือง เนื่องจากไทยจะจัดการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม อาจส่งผลให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการตรวจสอบความโปร่งใสต่อการลงทุนจากจีนมากขึ้น ตัวอย่างนี้สามารถเห็นได้จากกรณีของมาเลเซียที่ยกเลิกสองโครงการยักษ์ใหญ่จากจีนได้แก่เส้นทางรถไฟสายชายฝั่งตะวันออก และท่อส่งแก๊สธรรมชาติในรัฐซาบาห์บนเกาะบอร์เนียว ดังนั้นจึงเรื่องที่ต้องจับตากันว่ากรณีเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นในไทยหลังจากการเลือกตั้งหรือไม่

จากผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบที่กล่าวมาข้างต้น หลายภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ราชการ และวิชาการเห็นพ้องกันว่า ไทยควรเร่งพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันในด้านเศรษฐกิจให้มากขึ้น เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการธุรกิจ เสาะหาตลาดทางเลือกหรือตลาดใหม่ในการลงทุน พัฒนาศักยภาพในการเป็นแหล่งวิจัยและพัฒนา (Research and Development) และในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 นี้ ไทยควรแสดงบทบาทนำในอาเซียนเพื่อผลักดันให้เกิดการบรรลุความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Economic Partnership) หากความตกลงนี้บรรลุ จะส่งผลให้ไทยและอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก อันจะนำความมั่นคงและมั่งคั่งมาสู่ภูมิภาค

บทสรุป

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จะเห็นได้ว่าถึงแม้สงครามการค้าจะเป็นความขัดแย้งทางการมืองและเศรษฐกิจระหว่างชาติมหาอำนาจคือจีน และสหรัฐฯ ก็ส่งผลกระทบต่ออาเซียนรวมถึงไทยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เป็นเพราะว่าชาติต่าง ๆ ในอาเซียนนั้นมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่อชาติมหาอำนาจทั้ง โดยจะเห็นได้ว่าชาติที่มีปฏิสัมพันธ์ทางการค้ากับชาติมหาอำนาจค่อนข้างมาก เช่น มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ส่วนชาติที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนหรือสหรัฐฯ ในปริมาณที่ค่อนข้างนอก หรือส่งออกสินค้าที่ไม่อยู่ในรายการการขึ้นภาษี เช่น บรูไน ฟิลิปปินส์ ลาว พม่าและกัมพูชา จะได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย ในส่วนของไทยนั้น เนื่องจากไทยมีปริมาณการค้ากับจีนและสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก ทำให้ไทยได้รับผลกระทบสูงเช่นเดียวกันแต่ก็ไม่ถึงกับทำให้เศรษฐกิจชะงัก ในทางกลับกัน ไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับอานิสสงค์จากสงครามการค้าครั้งนี้และเปิดโอกาสให้ไทยพัฒนาความสามารถทางดศรษฐกิจให้มีความหลากหลายเพื่อรองรับกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

 

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน