home

สรุปผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 21 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

พฤศจิกายน 24, 2012
สรุปผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 21 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 21 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุด ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ท่ามกลางความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับรองปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอาเซียน ที่แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความบกพร่องของเนื้อหา ทว่าก็ได้กลายเป็นกรอบหลักสำหรับการพัฒนาการเคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของอาเซียน กระนั้นก็ดี ประเด็นที่ได้รับการจับตามองอย่างความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ กลับยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมใดๆ จากประเทศผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ในการกล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมสุดยอดครั้งที่ 21 นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ของกัมพูชา ในฐานะประธานการประชุม ได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาความร่วมมือทั้งในและนอกกลุ่มประเทศสมาชิก เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน และยกระดับบทบาทของอาเซียนในประชาคมโลก

เริ่มตั้งแต่ วันที่ 18 พฤศจิกายน ผู้นำจาก 10 ชาติสมาชิก ได้ออกแถลงการณ์ร่วม หลังลงนามรับรอง “ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน” ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของภูมิภาค แม้จะถูกวิจารณ์โดยนางเนวี พิลไลย์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่ชี้ว่าปฏิญญาดังกล่าวมีความบกพร่องในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไม่มีผลผูกมัดประเทศสมาชิก ทั้งยังขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ขณะที่ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ออกมาโต้แย้งว่า อาเซียนได้แก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องของปฏิญญาดังกล่าว ก่อนการลงนามเรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกัน ผู้นำชาติอาเซียนตัดสินใจประกาศเลื่อนกำหนดการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) เป็นเวลา 12 เดือน จากเดิมวันที่ 1 มกราคม 2015 ไปเป็นวันที่ 31 ธันวาคม ปีเดียวกัน อันเนื่องมาจาก ข้อจำกัดหลายประการ รวมไปถึงข้อตกลงและขั้นตอนต่างๆ อีกมากมายที่ประเทศสมาชิกยังตกลงกันไม่ได้ อาทิ ประเด็นเรื่องการตรวจลงตรา ภาษีอากรสินค้า กฎระเบียบว่าด้วยการลงทุนระหว่างกัน ฯลฯ

นอกจากนี้ ประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศอาเซียนอย่าง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน กับมหาอำนาจอย่างจีน ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นหารือในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งที่ 7  โดยผู้นำจากฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ พร้อมๆ กับที่ญี่ปุ่น ยกข้อพิพาทกับจีน เรื่องกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะทะเลจีนตะวันออกเข้าหารือ

ทั้งนี้ แม้อาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กัมพูชา จะเคยยืนยันเจตจำนงค์ที่จะหลีกเลี่ยงการนำประเด็นดังกล่าวเข้าหารือในเวทีระดับนานาชาติ ทว่าฟิลิปปินส์และเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่กรณีหลัก ได้ออกมาโต้แย้งว่า ทั้งสองประเทศก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่เป็นอยู่ ส่วนจีนก็ได้ตอกย้ำทิศทางนโยบายต่างประเทศของตน และยืนยันว่า ข้อขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ควรนำมาพูดคุยในระดับทวิภาคีเท่านั้น และไม่ควรดึงสหรัฐอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ด้วยเหตุนี้เอง ท่าทีของสหรัฐฯ จึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษ โดยประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ออกมากดดันจีน ในที่ประชุมว่าด้วยการจัดทำข้อปฏิบัติในพื้นที่ทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea) ให้เร่งแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งชี้ว่า ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งภูมิภาค อาเซียนกับจีนจึงควรเร่งหารือกัน เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมือง และหาทางออกเพื่อนำไปสู่สันติภาพ ทั้งนี้ เขายืนยันว่า สหรัฐฯ ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใด

กระนั้นก็ดี ดูเหมือนไม่ได้มีข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมใดๆ จากการประชุมครั้งนี้ นอกเสียจาก การยืนยันให้ทุกฝ่ายเคารพในข้อปฏิบัติที่มีการตกลงระหว่างจีนกับอาเซียนก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน ผู้นำอาเซียนก็ร้องขอให้จีน เริ่มการเจรจา เพื่อจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ และมอบหมายให้ไทยเป็นตัวกลางในการประสานงานกับจีน เพื่อใช้เป็นแนวทางป้องกันเหตุรุนแรงและแก้ไขความขัดแย้งร่วมกันในอนาคต

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็พยายามผลักดันข้อตกลงทางการค้าการลงทุนที่เรียกว่า ความเกี่ยวพันทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมสหรัฐฯ-เอเชีย (U.S.-ASEAN Expanded Economic Engagement) เพื่อปูทางสู่ข้อตกลงทางการค้าอีกฉบับ นั่นคือ กรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership – TPP)  ซึ่งเป็นความตกลงทางเศรษฐกิจที่ไม่มีจีนรวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ดี เป้าหมายของสหรัฐฯ ในเวทีประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกนี้ ต้องเผชิญกับความท้าทายจากความพยายามของชาติอาเซียน ที่ร่วมกับอีก 6 ประเทศ คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จัดตั้งความตกลง หุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP)  ซึ่งได้รับการอนุมัติในเวทีประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 ที่บาหลี เมื่อปีที่แล้ว โดยมีเป้าหมายที่จะขยายการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทำให้เกิดระบบตลาดเดียวที่มีประชาชนกว่า 3,000 ล้านคน จนกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ในอีกด้านหนึ่ง การร่วมหารือกับจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ได้นำไปสู่การตกลงริเริ่มการเจรจาความร่วมมือทางการค้า เพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างกัน และอาจเป็นสัญญาณถึงความพยายามผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างทั้งสามประเทศ ท่ามกลางข้อพิพาทเหนือหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนตะวันออก รวมถึง ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์บาดแผลที่ยุ่งยากซับซ้อน

นอกจากนี้ ในการประชุมอาเซียน +3 สมัยพิเศษ (Commemorative summit) เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี การริเริ่มก่อตั้งความร่วมมือระหว่างชาติอาเซียนกับชาติมหาอำนาจในเอเชียอย่าง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ของกัมพูชาได้กล่าวในที่ประชุมเกี่ยวกับความคืบหน้าและพัฒนาการของการประชุมจากครั้งที่ผ่านมาๆ และเน้นย้ำถึงบทบาทและทิศทางความร่วมมือในอนาคต ระหว่างชาติสมาชิกอาเซียน+3 ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และสังคมวัฒนธรรม ขณะที่นายกรัฐมนตรีเวิน เจีย เป่า ของจีน ได้เน้นย้ำถึงความปรารถนาที่จะเพิ่มความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างชาติสมาชิก ทั้งนี้ร่วมไปถึงการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพในระดับภูมิภาค และร่วมกันเผชิญหน้าความท้าทายที่รอคอยอยู่ในอนาคต ดั่งเช่นที่ เคยช่วยเหลือกันจนผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย เมื่อปี 1997 มาได้

อนึ่ง ในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำจากชาติสมาชิก ASEAN+3 ได้ร่วมออกแถลงการณ์การร่วมผู้นำในวาระครบรอบ 15 ปี ความร่วมมืออาเซียน+3 ( ASEAN Plus Three Leaders’ Joint Statement on the Commemoration of the 15th Anniversary of the ASEAN Plus Three Cooperation ) และ แถลงการณ์ผู้นำว่าด้วยหุ้นส่วนในความเชื่อมโยงอาเซียน+3 (Leader’s Statement on ASEAN Plus Three Partnership on Connectivity) อีกทั้งยังได้รับรองเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ให้เป็นเมืองวัฒนธรรมแห่งเอเชียตะวันออก ในกรอบอาเซียน+3 (Cultural City of East Asia 2012 within the framework of the ASEAN Plus Three) อีกด้วย

เรียบเรียงจาก

http://www.asean.org/news/asean-secretariat-news/item/asean-plus-three-commemorative-summit
http://www.asean.org/news/asean-secretariat-news/item/asean-score-several-landmark-agreements-at-21st-summit-and-other-related-meetings?category_id=27
http://www.thejakartapost.com/news/2012/11/18/southeast-asia-adopt-human-rights-declaration.html
http://news.voicetv.co.th/global/56550.html?p
http://www.thairath.co.th/content/oversea/307356
http://zeenews.india.com/news/world/asean-3-summit-china-japan-s-korea-vow-cooperation_811628.html

Leave A Response

คลังข้อมูล

พบกับเราที่ Facebook

Tweets ล่าสุด

No tweets found.

แผนที่อาเซียน